นิทานกับการสอนคณิตศาสตร์

โดย: อาจารย์ ดร.มนตรี วงษ์สะพาน
นิทาน เป็นเรื่องเล่าจากจินตนาการที่อยู่คู่กับมนุษย์มาช้านาน จากอดีตมนุษย์เราใช้นิทานเพื่อสอนความรู้ สอนเรื่องคุณธรรมจริยธรรม และใช้เพื่อสร้างความบันเทิง จนกระทั่งนิทานมีการพัฒนาต่อยอดจากเรื่องราวสั้นๆ จนกระทั่งกลายเป็นมหากาพย์ และแทรกซึมอยู่ในวัฒนธรรมการดำเนินชีวิตในแทบทุกสังคมมนุษย์ การเล่านิทานเปรียบเสมือนตัวแทนของการสั่งสอนและการถ่ายทอดความรู้ ผ่านการอ่านและการเล่าสืบต่อกันมาของคนในท้องถิ่นหรือในสังคมนั้นๆ จากรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่ง ในปัจจุบันการเล่านิทานก็ยังอยู่ในวิถีชีวิตของเราและมีการพัฒนารูปแบบการเล่าให้น่าสนใจมากขึ้นด้วยรูปแบบการเล่าที่แตกต่างกันไป ดังนั้น นิทานจึงเป็นเรื่องเล่าที่มีพลังในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ของนักเรียนได้ เพราะนิทานสามารถให้ทั้งความสนุกสนาน เพลิดเพลิน สามารถช่วยเพิ่มพูนความรู้ด้านต่างๆ เสริมสร้างจินตนาการ และใช้เป็นสถานการณ์ที่นำไปสู่การกระตุ้นกระบวนการคิดของผู้เรียน ได้

การนำนิทานมาใช้สร้างกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียน สามารถใช้นิทานได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งนิทานพื้นบ้านที่เล่ากันมาช้านานโดยอาจมีการดัดแปลงเนื้อหาบ้างเล็กน้อยเพื่อให้เหมาะสมกับผู้เรียน หรือครูผู้สอนอาจแต่งเรื่องราวของนิทานขึ้นเองโดยผูกโยงสถานการณ์ใกล้ตัวของผู้เรียน เพื่อสร้างเป็นเรื่องราวที่น่าสนใจ จูงใจให้ผู้เรียนอยากรู้อยากเรียนโยงไปสู่เนื้อหาสาระที่จะสอดแทรกหรือบูรณาการให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามจุดประสงค์ของการเรียนในที่สุด

การแต่งนิทานเพื่อนำมาใช้จัดกระบวนการเรียนรู้มีหลักสำคัญ คือ เรื่องราวของนิทานควรมีความสนุกสนาน กระตุ้นให้ผู้เรียนสนใจ หรือเกิดปมประเด็นปัญหาที่จะทำให้ผู้เรียนเกิดความสงสัยใคร่รู้ที่จะนำไปสู่การปมปัญหาที่จะให้ผู้เรียนหาคำตอบและเกิดกระบวนการเรียนรู้ได้ หากเรื่องเล่าสนุกและผู้เล่าสามารถเล่าได้อย่างสนุกสนาน ชวนให้ผู้ฟังเกิดความสนใจ น่าตื่นเต้นและมีการทิ้งท้ายไว้ให้ติดตามต่อไป นักเรียนก็จะอยากรู้จนต้องเก็บไปคิดและพยายามหาคำตอบด้วยตนเอง นั่งคือความสำเร็จของนิทานที่จะกระตุ้นให้เกิดความอยากรู้อยากเรียนของเด็กได้

Maths-Story

การใช้นิทานเพื่อการจัดการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เป็นเทคนิคอย่างหนึ่งในการกระตุ้นความสนใจของผู้เรียนให้อยากหาคำตอบที่ครูผูกปมปัญหาไว้ในเรื่องราวของนิทาน เช่น นิทานเรื่อง “สี่พี่น้องกับที่นาสิบห้าไร่” ปมของเรื่องราวมีอยู่ว่า ลุงแสวงมีลูกชายอยู่สี่คน คนโตมีอาชีพเป็นชาวนา คนรองเป็นตำรวจ คนที่สามเป็นครู คนที่สี่เป็นทหาร อยู่มาวันหนึ่งลุงแสวงป่วยหนักจึงเขียนพินัยกรรมไว้ว่า ให้แบ่งที่นาเป็นห้าส่วน ลูกที่เป็นชาวนาได้สองส่วน เหลือสามส่วนแบ่งให้ลูกคนที่เหลือเท่าๆ กัน จากเรื่องราวของลุงแสวงครูสามารถตั้งคำถามได้หลายลักษณะให้นักเรียนคำนวณ เช่น ลูกแต่ละคนจะได้ที่นาคนละเท่าไหร่ ซึ่งนักเรียนจะต้องไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับหน่วยที่ดินเป็นไร่ งาน ตารางวา หรือตารางเมตร ต้องมีความเข้าใจเรื่องสัดส่วน เพื่อให้สามารถแบ่งที่นาได้อย่างถูกต้อง โดยวิธีการคำนวณของนักเรียนอาจแตกต่างกัน ตามความเข้าใจของแต่ละคน

หากครูต้องการพัฒนาวิธีการเล่านิทานให้น่าสนใจมากขึ้น อาจนำเสนอเป็นนิทานแบบมัลติมีเดีย ซึ่งสามารถสร้างได้ง่ายๆ โดยวาดภาพประกอบเรื่องราวเป็นตอนๆ แล้วบันทึกเสียงการเล่านิทานประกอบภาพ นำมาตัดต่อให้เป็นไฟล์วีดีโอด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ก็จะได้นิทานที่นำไปเปิดให้นักเรียนดูผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์หรือฉายผ่านเครื่องเล่นดีวีดีได้ ลองดูตัวอย่างนิทานต่อไปนี้นะครับ เผื่อจะได้แนวคิดที่จะนำไปจัดกิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์ให้กับผู้เรียนได้

 

1. เรื่อง ตัวเลขผู้โง่เขลา
2. เรื่อง เบเกอรี่ชวนคิด
3. เรื่อง สองพี่น้องแบ่งแตงโม
4. เรื่อง มหัศจรรย์การใช้ปุ๋ย
5. เรื่อง พินัยกรรมเจ้าปัญหา
6. เรื่อง คอกหมูเจ้าปัญหา
7. เรื่อง ครอบครัวสุขสันต์
8. เรื่อง แบ่งของใต้ท้องทะเล
9. เรื่อง แม่แพะกับหมาป่า
10.เรื่อง หมาป่าเจ้าเล่ห์

 

ที่มา: cres.in.th

เรื่องที่เกี่ยวข้อง..

แลกเปลี่ยนความคิดเห็น

รองศาสตราจารย์ ดร. ประวิต เอราวรรณ์
Assoc.Prof. Prawit Erawan, Ed.D

ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยระบบการศึกษา
facebook.com/ประวิต เอราวรรณ์

ปฏิทินกิจกรรม