การสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) ในโรงเรียนสุขภาวะ

ชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (Professional Learning Community: PLC) เป็นการรวมตัวของผู้บริหารและครู ในการลงมือปฏิรูปการเรียนรู้และเรียนรู้ร่วมกัน เน้นปฏิสัมพันธ์และการเป็นผู้นำร่วมกัน


โดยครูเป็นเจ้าของการเปลี่ยนแปลงนั้น ซึ่งเริ่มจากการเห็นคุณค่าวิสัยทัศน์ และการเรียนรู้ในทิศทางเดียวกัน แล้วนำสิ่งที่เรียนรู้ไปประยุกต์ใช้อย่างสร้างสรรค์ สมาชิกใน PLC จะมุ่งเน้นว่า “ศิษย์ของเรา” มากกว่าว่า “ศิษย์ของฉัน”และการเปลี่ยนแปลงคุณภาพการจัดการเรียนรู้ที่เริ่มจาก “การเรียนรู้ของครู” เรียนรู้ที่จะมองเห็นการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง พัฒนาวิธีการจัดการเรียนรู้ของตนเอง เพื่อผู้เรียนเป็นสำคัญ

การเริ่มทำ PLC เริ่มจากคำถามเชิงคุณค่าว่า “โรงเรียนดำรงอยู่เพื่ออะไร ทำไมจึงต้องมีโรงเรียนนี้ไม่มีได้ไหม” “เมื่อมีอยู่ต้องทำอะไรให้แก่สังคม แก่ชุมชน” “อย่างไรเรียกว่าทำหน้าที่ได้ดีน่าภาคภูมิใจ” และ “เราจะช่วยกันทำให้โรงเรียนของเราทำหน้าที่ได้ดีเช่นนั้น ได้อย่างไร” ซึ่งคำตอบไม่หนีไปจากการมีคุณค่าต่อศิษย์ ต่อการสร้างอนาคตให้แก่อนุชนรุ่นหลัง ซึ่งคำถามดังกล่าวจะนำไปสู่การกำหนดเป้าหมาย (Purpose Statement) ค่านิยมหลัก (Core Value) และแนวทางการเปลี่ยนแปลงของโรงเรียนร่วมกัน เมื่อเป้าหมายชัดและเห็นแนวทาง ต้องรีบลงมือปฏิบัติ (Action Mode) โดยอาจทดลองทำในบางชั้นเรียน ในครูเพียงกลุ่มเล็กๆ ที่เป็นอาสาสมัครและเต็มใจที่จะเป็นผู้ริเริ่ม แต่ต้องทำคนเดียวห้องเรียนเดียว ต้องมีทีมร่วมคิดร่วมทำ ซึ่งต้องแยกกันทำแต่จะเรียนรู้ประสบการณ์จากการปฏิบัติร่วมกัน โดยต้องไม่สร้างความอึดอัดให้แก่ครูที่ยังไม่ศรัทธาหรือไม่อยากเปลี่ยนแปลง มีการสื่อสารสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับ PLC ว่ามีหลักการดำเนินการอย่างไร และผลที่เกิดจากการดำเนินการ PLC จะเป็นอย่างไร โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1. การมีเป้าหมายหรือฉันทะร่วมกันในด้านการเรียนการสอน เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ของครู โดยผู้บริหารโรงเรียนจะต้องมีบทบาทสำคัญในการให้ครูทั้งโรงเรียนได้ร่วมทบทวนและกำหนดทิศทางหรือเป้าหมายเหล่านั้นอย่างแท้จริง กรณีตัวอย่าง เช่น โรงเรียนสุขภาวะ มีฉันทะร่วมกันในการเรียนรู้ของนักเรียนโดยที่จะจัดกิจกรรมการเรียนการสอนโดยใช้โครงงานเป็นฐานเพื่อพัฒนาปัญญภายนอก และการใช้กิจกรรมจิตศึกษาเป็นฐานพัฒนาปัญญาภายใน PLC จึงเน้นไปที่เป้าหมายการเรียนรู้ของเด็กเป็นหลัก กิจกรรมหรือโครงการ ที่แคบตื้นและใช้เวลาสั้น ๆ มีกำหนดเวลาที่ชัดเจน จึงไม่ใช่จุดเริ่มต้น PLC ที่แท้จริง

2. การแสวงหาแนวทางแก้ปัญหาร่วมกัน ซึ่งเริ่มต้นจากผู้บริหารและครูในโรงเรียนร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากเป้าหมายขององค์กรโดยนำประสบการณ์และความรู้จากการปฏิบัติหรือความรู้ที่ฝังอยู่จากการทำงานของครูแต่ละคน จำเป็นต้องอาศัยผู้ชี้แนะ (Coach) ที่เป็นไปตามความต้องการของครูโดยการชี้แนะนั้นก็ต้องสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่อย่างแท้จริง

3. ทบทวนผลการปฏิบัติที่ได้ร่วมกันวางแผนพัฒนาการสอนอย่างสม่ำเสมอ เมื่อคุณครูได้ร่วมทบทวนวิธีที่จะปฏิบัติร่วมกันก่อนไปสอนจริงในวง PLC แล้ว มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนำผลปฏิบัติเหล่านั้นมาทบทวนถึงผลที่เกิดขั้น สิ่งที่เห็นและเรียนรู้อะไรหรืออาจเรียกกิจกรรมนี้ว่า การทบทวนหลังจากได้ปฏิบัติ ส่วนเพื่อนครูท่านอื่นก็จะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในสิ่งที่เห็น และสิ่งที่ได้เรียนรู้จากเพื่อนครู

4. ร่วมเรียนรู้จากการปฏิบัติจริงของเพื่อนร่วมวิชาชีพ กิจกรรมทั้งหลายทั้งมวลในวง PLC จึงไม่ใช่แค่เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แต่อาจจะหมายถึงสังเกตการณ์สอนของเพื่อนครู การนำสื่อมาอธิบายในวง PLC การสร้างแรงบันดาลใจจากผู้ประสบความสำเร็จ การสร้างความมั่นใจจากสิ่งที่ปฏิบัตินำไปสู่ทฤษฎี หรือการสร้างเครือข่ายกับครูต่างโรงเรียนที่มีเป้าหมายเดียวกัน เพื่อปรับปรุงการเรียนการสอนของครูให้สู่ผู้เรียนอย่างแท้จริง

5. เผยแพร่สู่สาธารณะและสร้างเครือข่าย เมื่อกระบวนการในการพัฒนาการเรียนรู้ของเด็ก มีความสำเร็จ วิธีที่จะก่อให้เกิดความยั่งยืน และแพร่ขยาย คือการนำเรื่องราวหรือกลไกเหล่านั้นสู่สาธารณชน ไม่ว่าจะเป็นการเปิดให้ชุมชนอื่นได้มาศึกษาและแลกเปลี่ยนร่วมกัน การสร้างคู่คิดของชุมชน (Community Buddy) ข้อสำคัญการเปิดกว้างสู่สาธารณะ คือการใช้พื้นที่ของโรงเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้และแลกเปลี่ยน
ในเวลาที่ไม่กระทบต่อการจัดกิจกรรมปกติของครู ซึ่งจะทำให้องค์กรมีความยั่งยืนและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

เรื่องที่เกี่ยวข้อง..

แลกเปลี่ยนความคิดเห็น

รองศาสตราจารย์ ดร. ประวิต เอราวรรณ์
Assoc.Prof. Prawit Erawan, Ed.D

ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยระบบการศึกษา
facebook.com/ประวิต เอราวรรณ์

ปฏิทินกิจกรรม