การบริหารจัดการโรงเรียนสุขภาวะ

สุขภาวะ หมายถึง ภาวะแห่งความสุขอันสมบูรณ์ทั้งทางร่างกาย ทางใจ ทางจิต และทางสังคมของคน ซึ่งประกอบด้วย การมีสุขภาวะทางร่างกาย คือการที่เราสามารถทำงานและดำรงชีวิตอยู่ได้ตามควรแก่อายุวัยและควรแก่อัตภาพ การมีสุขภาวะทางใจ คือการที่เรามีอารมณ์และความรู้สึกที่รื่นรมย์ ยินดี และเป็นสุข ไม่เครียดกังวล มีสติสัมปชัญญะและความคิดตามควรแก่อายุ แก่อัตภาพ และสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่ การมีสุขภาวะทางจิต คือการที่เรามีความสุขที่เกิดจากการเข้าใจธรรมชาติ เข้าใจความจริงแห่งชีวิตและสรรพสิ่ง จนเกิดความรอบรู้ และมีความรักความปรารถนาให้สรรพสิ่งมีความสุข และประเด็นสุดท้ายการมีสุขภาวะทางสังคม คือความสามารถในการอยู่ร่วมกับคนอื่นและสิ่งแวดล้อมในสังคมของตนได้อย่างมีความสุข มีน้ำใจ ปฏิบัติตามกติกาที่ได้ร่วมกันวางไว้ มีความเอาใจใส่ มีน้ำใจ ให้อภัย เอื้ออาทร และมีความอดทนต่อการอยู่ร่วมกัน สิ่งดังกล่าวเหล่านี้ล้วนทำให้มนุษย์เกิดความสุขที่แท้จริงและยั่งยืน

ดังนั้นคำว่าสุขภาวะเมื่อนำมาใช้ในโรงเรียนเป็น โรงเรียนสุขภาวะ จึงหมายถึง โรงเรียนที่มีรูปแบบกระบวนการบริหารจัดการใหม่ ที่ยึดเอาสุขภาวะเป็นตัวตั้ง เพื่อให้ผู้เรียนเป็นสุข องค์กรเป็นสุข สภาพแวดล้อมเป็นสุข ครอบครัวเป็นสุข และชุมชนเป็นสุข ทั้งในมิติของกาย ใจ สังคมและจิตวิญญาณ มีวิถีที่เชื่อมโยงและสัมพันธ์กันในตัวมนุษย์และสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ทั้งกายภาพและสังคมและมีความสามารถรับมือความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 ได้นั่นเอง รูปแบบการสร้างโรงเรียนสุขภาวะที่มุ่งเน้นความสุขที่แท้จริงของผู้เรียน ดังนี้

  • ประเด็นแรก มุ่งเน้น ให้นักเรียนเป็นสุข กระตุ้นคิดให้เด็กได้เรียนรู้อย่างมีความสุข การปรับเปลี่ยนหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อให้เด็กมีทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 และให้ครูมีกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับเด็กจึงเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะทำให้เขาสามารถอยู่รอดในสังคม ได้อย่างมีคุณภาพจนกระทั่งเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ
  • ประเด็นที่สอง โรงเรียนเป็นสุข ประกอบด้วย ผู้บริหารสถานศึกษาและคณะกรรมการสถานศึกษา มีการนำองค์กรที่ดี กำหนดนโยบายที่ยึดประโยชน์ผู้เรียนเป็นตัวตั้ง มุ่งเน้นการพัฒนาผู้เรียนเป็นหลักสำคัญ รู้จักและเข้าถึงผู้เรียนเป็นรายบุคคลและจัดระบบดูแลช่วยเหลือที่มีประสิทธิภาพ ส่งเสริมให้ผู้เรียนทำกิจกรรมและมีส่วนร่วมในการคิด ออกแบบกิจกรรมด้วยตนเอง มีครูและบุคลากรที่มีแรงบันดาลใจ และเป็นแบบอย่างที่ดีงามของนักเรียนและสังคม
  • ประเด็นที่สาม สภาพแวดล้อมเป็นสุข ประกอบด้วย การจัดสภาพแวดล้อมในโรงเรียน ที่เน้นความสะอาดปลอดภัย ปลอดโปร่ง สร้างพื้นที่สีเขียวในโรงเรียน และพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ควบคู่ไป และที่สำคัญเสริมสร้างสุขภาพที่ดี มีการใช้ทรัพยากรที่มีอย่างประหยัดและคุ้มค่า ดูแลรักษาและปกป้องสิ่งแวดล้อม จัดการด้านโภชนาการ สุขาภิบาลและสิ่งแวดล้อมถูกสุขลักษณะ เป็นพื้นที่ปลอดภัย ป้องกันปัจจัยเสี่ยง
  • ประเด็นที่สี่ ครอบครัวเป็นสุข ประกอบด้วย การที่เด็กมีสัมพันธภาพของสมาชิกในครอบครัว ในลักษณะที่เอื้ออาทร เกื้อกูล และรักห่วงใยกัน มีปัจจัยดำรงชีวิตพอเพียง ลดปัจจัยเสี่ยง ให้ครอบครัวปลอดภัยจากความรุนแรง ยาเสพติด การพนัน เหล้า บุหรี่ และการล่วงละเมิดทางเพศ พ่อแม่ ผู้ปกครอง มีการติดต่อสื่อสาร และร่วมมือกับโรงเรียนในการดูแลช่วยเหลือนักเรียนและพัฒนาผู้เรียนจัดเวลาและใช้เวลาร่วมกันอย่างมีความสุข พ่อแม่ ผู้ปกครองเป็นแบบอย่างที่ดีในการดำรงชีวิต
  • ประเด็นที่ห้า ชุมชนเป็นสุข ประกอบด้วย การที่ชุมชน ครอบครัวมีบทบาทในการเฝ้าระวัง ป้องกันปัญหาผู้เรียนร่วมกับโรงเรียน ผู้คนในชุมชนเป็นแบบอย่างที่ดีงามแก่ผู้เรียน ในการปฏิบัติตามกฎหมายและหน้าที่พลเมือง มีการระดมทรัพยากร เพื่อส่งเสริมการจัดการศึกษาร่วมกับโรงเรียน ร่วมมือกับครูในการจัดการเรียนรู้และแก้ปัญหาผู้เรียนร่วมกัน มีวิถีชีวิตที่อนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่นและทรัพยากรชุมชนและเป็นแหล่งเผยแพร่ภูมปัญญา วัฒนธรรมท้องถิ่น ชุมชน ให้เด็กได้เรียนรู้และสืบทอดอย่างเห็นคุณค่า

เรื่องที่เกี่ยวข้อง..

แลกเปลี่ยนความคิดเห็น

รองศาสตราจารย์ ดร. ประวิต เอราวรรณ์
Assoc.Prof. Prawit Erawan, Ed.D

ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยระบบการศึกษา
facebook.com/ประวิต เอราวรรณ์

ปฏิทินกิจกรรม