สภาพการศึกษาของนักเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานในปัจจุบันพบปัญหาสำคัญที่เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ คือ 1) ครูผู้สอนให้ความสำคัญกับคำตอบมากกว่ากระบวนการ 2) นักเรียนขาดเครื่องมือช่วยคิดในระหว่างเรียนรู้ 3) นักเรียนไม่เกิดการเชื่อมโยงความรู้และประสบการณ์ 4) ระบบการศึกษาขาดการประเมินผลสัมฤทธิ์ในส่วนของกระบวนการเรียนรู้ และ 5) นักเรียนขาดประสบการณ์ความภาคภูมิใจจากผลงานที่คิดได้
จากปัญหาดังกล่าวผู้เขียนเห็นว่าสามารถแก้ไขได้ด้วยการจัดการเรียนรู้ผ่านกระบวนการคิดวิเคราะห์ เพราะกระบวนการคิดวิเคราะห์เป็นทักษะพื้นฐานสำคัญที่จะส่งผลให้ผู้เรียนพัฒนาทักษะการคิดด้านอื่นๆ ที่สูงขึ้น การคิดวิเคราะห์จะช่วยให้รู้ข้อเท็จจริง รู้เหตุผลเบื้องต้นของสิ่งที่เกิดขึ้น เข้าใจความเป็นมาเป็นไปของเหตุการณ์ รู้ว่าเรื่องนั้นมีองค์ประกอบอะไรบ้าง รู้รายละเอียดของสิ่งต่างๆ ทำให้ได้ข้อเท็จจริงที่เป็นพื้นฐานความรู้ เพื่อนำไปใช้ในการตัดสินใจแก้ปัญหาได้อย่างถูกต้อง แนวทางการจัดการเรียนรู้โดยอาศัยกระบวนการคิดวิเคราะห์ แบ่งเป็น 4 ขั้นตอน ได้แก่ 1) การกำหนดประเด็นปัญหา 2)การวิเคราะห์หาคำตอบหรือทางออกของปัญหา 3) การสรุปคำตอบและกำหนดกรอบแนวคิด และ 4) การขยายผลสู่การปฏิบัติหรือสร้างสรรค์ผลงาน

กระบวนการเรียนรู้ผ่านการคิดวิเคราะห์ทั้ง 4 ขั้นตอนนี้ จะทำให้นักเรียนสามารถเชื่อมโยงความรู้สู่การปฏิบัติ ก่อเกิดผลงานที่สร้างประโยชน์ให้กับสังคมและชุมชน ทำให้นักเรียนเกิดความภาคภูมิใจจากผลงานของตนเอง กระบวนการคิดวิเคราะห์ที่นักเรียนได้ปฏิบัติผ่านเครื่องมือช่วยคิดด้วยผังต่างๆ สามารถประเมินผลการเรียนรู้ของนักเรียนจากผลงานนั้นๆ เพื่อทราบระดับการเรียนรู้และทักษะที่เกิดขึ้น จึงเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่มีทั้งข้อมูลเนื้อหาวิชาซึ่งเชื่อมโยงกับการเรียนรู้ทักษะชีวิต อันจะก่อให้เกิดความรู้และทักษะที่นำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้ตามความมุ่งหมายทางการศึกษาอย่างแท้จริง
วารสารศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ปีที่ 13 ฉบับที่ 2 กรกฎาคม – ธันวาคม 2556
บทความโดย อาจารย์ ดร.มนตรี วงษ์สะพาน (อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยมหาสารคารม และนักวิชาการมูลนิธิสถาบันวิจัยระบบการศึกษา)
แลกเปลี่ยนความคิดเห็น